มาถึงวันนี้ ต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส หรือที่รู้จักในชื่อของ COVID-19 นับว่าเป็นวิกฤตจากโรคระบาดที่นับว่ารุนแรงที่สุดในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมาก เพราะมีการพบการระบาดไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก หลายพื้นที่ต่างต้องเผชิญกับการระบาดอย่างหนักจนมีผู้ป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งแม้แต่ประเทศไทยเอง ถึงจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพียงหลักสิบ แตกต่างจากประเทศที่มีการระบาดหนัก แต่ก็มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึงพันกว่าราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563) สถานการณ์นี้สร้างความตื่นตระหนกและส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คนในประเทศเป็นอย่างมาก กิจกรรมหลายๆ อย่างหยุดชะงัดหรือไม่ก็ถูกสั่งให้ปิดเพื่อความปลอดภัย เพราะหลายๆ สถานที่มักมีกิจกรรมดังกล่าวนั้น มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่กระจายของเชื้อโรค จนอาจนำไปสู่การระบาดเป็นวงกว้าง ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ กิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

          ช่วงมีนาคมถึงเมษายน แม้จะเป็นช่วงของการปิดภาคเรียน แต่ก็เป็นช่วงสำคัญในการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น การสอบปลายภาคเรียน การสอบระดับชาติ การรับสมัครนักเรียน หรือรวมไปถึงการเตรียมสอบเพื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัย ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่นักเรียนจะต้องใส่ใจและให้เวลากับสิ่งเหล่านี้ให้มากๆ ในขณะเดียวกัน ก็เป็นเวลาที่ครูผู้สอนจะต้องตรวจข้อสอบ ให้คะแนน ตัดเกรด และเขียนสมุดพกให้นักเรียนแต่ละคน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรมตามปกติที่อยู่ในปฏิทินการศึกษา ซึ่งถ้าในช่วงเวลาปกตินั้น การดำเนินกิจกรรมเหล่านี้ สามารถทำได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ แต่เมื่อมีสถานการณ์การระบาดของไวรัส ทำให้สถานศึกษาต่อเร่งกิจกรรมทุกอย่าง เพื่อให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว หรือไม่ก็จำเป็นต้องเลื่อนออกไป และปิดสถานศึกษาเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดของโรคตามคำสั่งของต้นสังกัด สิ่งเหล่านี้ทำให้การดำเนินงานต่างๆ เป็นไปด้วยความเร่งรีบ ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นนักเรียนที่ต้องเลื่อนเวลาการสอบหรือจัดการด้สนการศึกษาให้เร็วขึ้นหรือยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งเป็นการเสียผลประโยชน์จากเวลาในการอ่านหนังสือหรือทบทวนบทเรียนที่น้อยลง

         นอกจากนี้ ปัญหาที่อย่างหนึ่งคือเรื่องของการเรียน เพราะในการเรียนระดับมหาวิทยาลัย ได้มีการเปลี่ยนแปลงปฏิทินการศึกษาให้แตกต่างกับจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทำให้ช่วงของเดือนมีนาคมถึงเมษายนนั้น ยังคงเป็นช่วงของการเรียนการสอน ซึ่งสถานการณ์การระบาดของไวรัสนั้น ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องปิดทำการเรียนการสอน และซ้ำร้ายมหาวิทยาลัยบางแห่งที่มีที่พักในมหาวิทยาลัย และพบว่ามีนักศึกษาที่พักในมหาวิทยาลัยนั้นติดเชื้อ อาจจะต้องปิดทำการเรียนการสอนนานกว่าที่คาดการณ์ไว้

          ล่าสุดจากการหารือของทางภาครัฐ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้มีประกาศปิดพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ ที่มีการชุมนุมของผู้คนจำนวนมาก ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม - 12 เมษายน ซึ่งหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงเหล่านั้น มีสถานศึกษารวมอยู่ด้วย ทำให้ตอนนี้การดำเนินงานต่างๆ ของสถานศึกษาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การสอบ หรือกิจกรรมต่างๆ จำเป็นต้องหยุดชั่วคราวไปโดยปริยาย สิ่งนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ทางด้านการศึกษา เพราะเมื่อสถานศึกษาทั้งหมดไม่สามารถขับเคลื่อนการเรียนการสอนได้ตามระยะเวลาที่ควรจะเป็น ผลกระทบทางการศึกษาที่เกิดจากการขาดช่วงหรือต้องเร่งเวลาในการเรียนการสอนให้เร็วขึ้นนั้น จึงส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และโดยเฉพาะกับผู้เรียนที่อยู่ในช่วงรอยต่อทางการศึกษา เช่น จากระดับประถมศึกษามาสู่ระดับมัธยมศึกษา หรือ จากระดับมัธยมศึกษาและกำลังเตรียมตัวเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา

          ผลกระทบนี้ ไม่ได้เกิดเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น เพราะ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้มีคาดการณ์เอาไว้ว่า จะมีนักเรียนและนักศึกษากว่า 363 ล้านคนทั่วโลก ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 นี้ โดยได้มีการประมาณการณ์ว่าจะมีสถาบันการศึกษากว่า 15 ประเทศ ที่อยู่ทั้งในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกาเหนือ ต้องปิดการเรียนการสอนเนื่องจากวิกฤตการณ์ดังกล่าว

          เราไม่ทราบว่า วิกฤตการณ์ไวรัสนี้ จะจบสิ้นในเร็ววันหรือต้องใช้ระยะเวลาไปอีกกี่ปีถึงจะคลี่คลาย การคาดหวังให้กลับมาสู่รูปแบบการศึกษาตามปกติของสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วโลก จึงเป็นเพียงความหวังแบบตามมีตามเกิด เพราะตราบใดที่เรายังไม่สามารถควบคุมการระบาดของไวรัส ก็เป็นการยากที่จะกลับมาสู่การศึกษาแบบเดิมได้ในเร็ววัน ถึงแม้จะควบคุมได้ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ในอนาคตจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก และด้วยแนวคิดนี้เอง สถานศึกษา และรวมสถาบันกวดวิชาต่างๆ จึงเริ่มหันมาสู่การเรียนแบบออนไลน์แทนการเรียนในระบบปกติมากขึ้น

           การเรียนการสอนแบบออนไลน์ นับเป็นนวัตกรรมการศึกษาอย่างหนึ่งที่ผนวกเอาเทคโนโลยีการศึกษา เข้ากับเครือข่ายออนไลน์ ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ผู้เรียน สามารถเรียนรู้จากที่ไหนและเวลาใดก็ได้ สามารถเรียนรู้อย่างบูรณาการผ่านสื่ออิเล็กโทนิคส์ต่างๆ ที่มีความหลากหลาย เช่น ข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว คลิปเสียงหรือคลิปวีดีโอ ต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน โดยผู้เรียนสามารถเลือกที่จะเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองและสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมผ่านเครือข่ายออนไลน์ได้ทันที ซึ่งการเรียนการสอนแบบออนไลน์นี้ สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิการเรียนการสอน โดยไม่จำกัดว่าจะต้องอยู่สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เพราะ ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ มีความยืดหยุ่นสูง สามารถสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ และลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาที่เกิดจากคุณภาพด้านการศึกษาที่แตกต่างกันได้

           ปัจจุบันนี้หลายสถาบันการศึกษาทั่วโลก โดยเฉพาะการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เริ่มหันมามองถึงประโยชน์ของการเรียนการสอนแบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด มหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งในสหรัฐได้ประกาศจะใช้การเรียนการสอนแบบเสมือนจริง (Virtual Education) ในขณะที่เกิดสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งสอดคล้องกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาที่เริ่มเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนการสอนรูปแบบนี้ หรือแม้แต่ในประเทศไทย มหาวิทยาลัยชั้นนำต่าง ๆ ก็เริ่มหันมาใช้การเรียนการสอนแบบออนไลน์มากขึ้น เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่จะเริ่มใช้การเรียนการสอนออนไลน์ เพื่อแก้ปัญหาจากสถานการณ์วิกฤตนี้

           และจากสถานการณ์ COVID-19 นี้เอง ล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีการเห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เตรียมความพร้อมเพื่อเดินหน้าในการจัดการศึกษาออนไลน์อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งในการให้ผู้คนเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้การแพร่เชื้อลดลง และทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะปกติและปลอดภัยได้เร็วขึ้น จึงนับได้ว่าการเรียนการสอนออนไลน์มีประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะกับสถานการณ์เช่นนี้

           การเรียนการสอนแบบออนไลน์นั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพียงแต่ว่า เรามักจะเคยชินกับรูปแบบการเรียนโดยปกติที่ผู้เรียนจะต้องไปนั่งเรียนในห้องเรียนมากกว่า จึงอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนในระบบออนไลน์มากนัก และมักจะมองว่ามันเป็นสื่อการเรียนการสอนมากกว่าจะมองเป็นระบบการเรียนรู้แบบหนึ่ง ปัจจุบันมีหลายมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา รวมถึงเว็บไซต์ทางการศึกษาต่างๆ ได้พัฒนาหลักสูตรให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยระบบออนไลน์มากขึ้น และกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

            สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 นี้ อาจจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาชั้นดีที่ทำให้การปฏิรูป รูปแบบการเรียนรู้ จากการเรียนรู้ตามปกติที่ผู้เรียนจะต้องไปนั่งเรียนและมีครูผู้สอนยืนสอน มาสู่การเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่เป็นการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายออนไลน์ให้เกิดเร็วขึ้นก็เป็นได้ เพราะตราบใดที่โลกเรายังต้องเผชิญกับสถานการณ์ไวรัสระบาดนี้ การเรียนการสอนออนไลน์ก็คงเป็นหนทางรอดเพียงทางเดียวของโลกการศึกษาก็เป็นได้

แหล่งข้อมูล
การเรียนการสอนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2563
‘COVID-19’ ปฏิรูปการศึกษาทั่วโลก! ใช้เทคโนโลยีเรียนรูปแบบใหม่ – ‘มหาวิทยาลัยไทย’ สอนผ่านออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2563
ครม.หนุนศธ.เดินหน้าจัดการศึกษาออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2563