ในช่วงที่ไวรัสกำลังระบาดไปทุกหย่อมหญ้า เรามีการพูดถึงเรื่องของ Social Distancing กันมากขึ้น แต่แท้จริง Social Distancing นั้น มีความเป็นมาอย่างไร และอย่างไหนถึงจะเรียกว่า Social Distancing วันนี้มารู้จักคำคำนี้กันค่ะ

         ย้อนไปเมื่อสมัยการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สเปน ซึ่งเป็นเหตุการณ์การระบาดครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นบนโลก และทำให้ประชากรโลกกว่า 3 ใน 5 ของประชากรโลก ณ ขณะนั้นเสียชีวิต โดยเหตุการณ์นี้ เริ่มต้นในช่วงปี ค.ศ. 1917 ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดหนึ่งในหมู่ทหารช่วงระหว่างที่สงครามโลกครั้งที่ 1 ใกล้จะยุติ แต่ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศคู่กรณีในสงคราม ต่างปิดข่าวในเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้ขวัญกำลังใจของทหารประเทศตัวเองสูญเสียไปและไม่อยากให้คู่กรณีทราบถึงสถานการณ์ที่เป็นจุดอ่อนดังกล่าว จนสุดท้าย ประเทศสเปน ซึ่งไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งในสงครามและวางตัวเป็นกลางจึงประกาศข่าวการระบาดให้ทั่วโลกได้รับรู้ และก็กลายเป็นแพะเพราะถูกมองว่าประเทศสเปนเป็นพื้นที่ระบาด และตั้งชื่อโรคไข้หวัดใหญ่ที่กำลังระบาด ณ ขณะนั้นว่า โรคไข้หวัดใหญ่สเปน

          ไข้หวัดใหญ่สเปน เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับเชื้อไข้หวัดนก ซึ่งแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คน โดยอาการของผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการไข้ ไอ จาม คลื่นไส้ ปวดเมื่อย และท้องเสีย ซึ่งคล้ายกับอาการของไข้หวัดใหญ่ แต่ด้วยความที่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สเปนนี้ มีวิวัฒนาการและกลายพันธุ์จนทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้มันสามารถ แพร่กระจายได้ในอากาศ และทำให้ผู้ป่วยมีอาการเลือดออกในส่วนต่าง ๆ หายใจไม่ออก และเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว 

           การระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน เกิดขึ้นทันทีและกระจายตัวอย่างรวดเร็วหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติ เพราะเหล่าทหารต่างเดินทางกลับไปที่บ้านเกิด ซึ่งทหารจำนวนมากไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ และได้นำเชื้อไปติดคนในครอบครัว โดยหนึ่งในเหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นการระบาดครั้งใหญ่ในเหตุการณ์นี้ คือการที่ผู้คนราว 200,000 คน ออกมาชมขบวนพาเหรด Liberty Loan ที่มีขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการยุติสงครามบนท้องถนนในฟิลาเดเฟีย เมื่อวันที่ 28 กันยายน ปี ค.ศ. 1918 และหลังจากวันเพียง 3 วัน โรงพยาบาลทั่วทั้งฟิลาเดเฟียก็เต็มไปด้วยคนป่วย ซึ่งตลอดระยะเวลาการระบาดมีชาวฟิลาเดเฟียทั้งสิ้น 16,000 คน และมีผู้ติดเชื้อถึงกว่า 500,000 คน ซึ่งถือเป็นพื้นที่การระบาดใหญ่พื้นที่หนึ่งในสหรัฐอเมริกา  ระหว่างนั้น เซนหลุยส์ เมืองหนึ่งในรัฐมัสซูรี หลังจากที่เริ่มพบการระบาดของชาวเมือง สภาเมืองและนายกเทศมนตรีได้มอบอำนาจให้ ดร. แม็กซ์ ซี. สตาร์กคอฟฟ์ กรรมาธิการสาธารณสุขของเซนต์หลุยส์สามารถสั่งการต่าง ๆ ภายในเมืองได้ตามที่เห็นสมควร เพื่อระงับการแพร่ระบาด ซึ่ง ดร. แม็กซ์  ได้สั่งการให้ปิดสถานที่ต่าง ๆ ที่มีการรวมกลุ่มของผู้คนจำนวนมาก เช่น โรงเรียน ห้องสมุด ศาล ผับ บาร์ และสนามเด็กเล็ก นอกจากนี้ยังสั่งห้ามไม่ให้ผู้คนมาชุมนุมเกินกว่า 20 คนอีกด้วย และด้วยมาตรการนี้เอง ทำให้เซนต์หลุยส์ ซึ่งมีประชากร ณ ขณะนั้นกว่า  800,000 คน มีผู้เสียชีวิตจากการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สเปน เพียงเอง 700 กว่าคนเท่านั้น ซึ่งเป็นอัตราที่น้อยมากเมื่อเทียบกับเมืองอื่น ๆ ในสหรัฐ

           มาตรการที่ ดร. แม็กซ์ ได้นำมาใช้นั้น ช่วยลดอัตราการแพร่ระบาดของไวรัสได้เป็นอย่างดี เพราะประชาชนถูกสกัดกั้นไม่ให้ติดต่อพบปะกัน ทำให้ไม่สามารถแพร่เชื้อระหว่างกันได้ และส่งผลทำให้การสาธารณสุขสามารถดำเนินการดูแลและควบคุมโรคได้ง่ายขึ้น ทำให้จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมีจำนวนไม่มากนัก และจากความสำเร็จดังกล่าว วิธีการที่ ดร. แม็กซ์ นำมาใช้ ได้กลายมาเป็นมาตรการสากลในการรับมือกับโรคระบาดในลักษณะนี้เรื่อยมาจวบจนถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งการลดอัตราการพบปะกันของผู้คน และกำหนดให้ผู้คนออกห่างจากกันเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อนั้น จึงเป็นที่มาขอคำว่า  Social Distancing

           Social Distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นมาตรการสำคัญในการควบคุมโรคระบาดอย่างได้ผล  ซึ่งเป็นการที่บุคคลสร้างระยะห่างระหว่างกันภายในสังคม โดยรวมถึงไม่ออกไปนอกบ้านโดยไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะ ทำงานอยู่บ้าน และการไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่พบปะผู้ร่วมกับบุคคลอื่น เพื่อลดการสัมผัสและการแพร่กระจายเชื้อระหว่างกัน ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่ได้ผลดีในการควบคุมโรค

      สำหรับมาตรการต่างๆ ที่ ส่งผลให้เกิด Social Distancing นั้น เราสามารถดำเนินการหรือปฏิบัติตนตามมาตรการเพื่อลดปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยเฉพาะกับช่วงนี้ที่เราต้องเผชิญกับโรค COVID-19 ได้ดังนี้

อยู่ห่างกัน 1.5 - 2 เมตร

       การยืนพูดคุยหรือสื่อสารกัน โดยมีระยะห่าง 1 - 2 เมตร จะช่วยลดการแพร่เชื้อ โดยเฉพาะกับโรคทางเดินหายใจ อย่างเช่นโรค COVID-19 นี้ได้ เพราะระยะดังกล่าว เชื้อโรคจะมีโอกาสแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น จากการสนทนา ไอหรือจาม ได้น้อยกว่าการยืนใกล้ชิดกัน

Work and Learn for Home

        เปลี่ยนจากการเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศ หรือไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน มาสู่การทำงานและเรียนที่บ้าน ซึ่งช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อในที่ทำงานและในสถานศึกษาได้

ติดต่อสื่อสารกันผ่านทางออนไลน์

        ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารกันผ่านโปรแกรมหรือแอปพิเคชั่นต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้สามารถติดต่อสื่อสารหรือประชุมร่วมกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องพบเจอกันด้วยตัวเอง ทำให้ลดโอกาสสัมผัสและแพร่เชื้อ

งดการใช้บริการสาธารณะ

         การใช้บริการสาธารณะมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ง่าย เพราะมีผู้คนมากหน้าหลายตามาใช้บริการโดยตลอด ซึ่งบางคนอาจไม่แสดงอาการว่าติดเชื้อ แต่ก็สามารถแพร่เชื้อได้ผ่านการไอ จาม หรือ พูดคุยกัน ดังนั้นถ้าหลีกเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยง แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งขณะเดินทาง และล้างมือทันทีเมื่อใช้บริการเสร็จสิ้น ซึ่งจะทำให้โอกาสในการติดเชื้อลดลง

งดพบปะสังสรรค์และไปในที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก

          การรวมกลุ่มของผู้คนจำนวนมากในสถานที่ต่าง ๆ นั้น มีโอกาสที่ผู้คนบางส่วนอาจติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวมาก่อนหน้านี้ และแพร่เชื้อให้กับคนอื่น ๆ ที่รวมกลุ่มกัน  ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่ขึ้นได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อ จึงมีการรณรงค์ให้ทุกคนอยู่แต่ในบ้าน

ใช้บริการขนส่งและสั่งซื้อออนไลน์

           ทุกวันนี้การค้าขายออนไลน์มีการพัฒนาและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยผู้คนสามารถสั่งซื้อของต่าง ๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปซื้อสินค้าด้วยตัวเอง ซึ่งบริการขนส่งต่าง ๆ จะช่วยส่งของที่เราสั่งไว้ถึงหน้าบ้าน ซึ่งช่วยลดการพบปะที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากขึ้น

รับประทานอาหารด้วยภาชนะส่วนตัว

            การรับประทานอาหารด้วยภาชนะและที่ตักอาหารของตัวเองนั้นนำเป็นอนามัยขั้นพื้นฐานที่ช่วยให้เราไม่ป่วยและเป็นโรคจากการรับประทานอาหารร่วมกัน และสำหรับการแพร่ระบาดของ COVID-19 เราควรรับประทานอาหารจานเดียวที่ปรุงสุกใหม่ ๆ และไม่ควรรับประทานอาหารแบบสำรับร่วมกัน ซึ่งทำให้มีโอกาสในการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น

 

          Social Distancing นับว่าเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ไว้ต่อกรกับสถานการณ์วิกฤตจากโรคระบาดในลักษณะนี้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว นอกจากภาครัฐจะต้องมีมาตรการที่เข้มงวดแล้ว ประชาชนในประเทศต้องให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเคร่งครัดด้วย เพราะถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดละเลย เช่น ภาครัฐไม่คำนึงถึงความรุนแรงของการระบาดและไม่มีมาตรการควบคุมอย่างเหมาะสม การดำเนินการในลักษณะของ Social Distancing จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย และในทางกลับกัน ถึงภาครัฐจะมีมาตรการที่รัดกุม แต่ถ้าประชาชนในประเทศไม่ตระหนักและไม่เห็นถึงความรุนแรงของโรค มาตรการเกี่ยวกับ Social Distancing ก็คงไร้ผล 

    ดังนั้นเราจึงควรเชื้อมั่นระหว่างกันและดำเนินชีวิตตามหลัก Social Distancing อย่างเคร่งครัด เพื่อสู้คึกกับไวรัสที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุกขณะ ซึ่งถ้าเรามีวินัยและร่วมมือกันได้อย่างดี สถานการณ์วิกฤตนี้ก็คงคลี่คลายลงได้ในไม่ช้า

เอกสารอ้างอิง

https://www.gqthailand.com/culture/article/when-you-die-of-the-covid-19

https://www.posttoday.com/world/618086

https://med.mahidol.ac.th/th/infographics/172

แหล่งข้อมูล
หากคุณต้องตายด้วย COVID-19 คุณจะไม่มีโอกาสแม้ได้กล่าวลาใคร. สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2563
การปิดเมืองจะเอาชนะโรคระบาดได้ บทเรียนจากวิกฤตไข้หวัดสเปน. สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2563
7 วิธีเว้นระยะห่างทางสังคม SOCIAL DISTANCING ต้านภัย COVID-19. สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2563