ในบรรดาลูกศิษย์ของท่าน มีใครที่ประสบปัญหาในด้านการอ่าน อาทิ เช่น อ่านไม่ออก สะกดคำไม่ได้ หรือเขียนหนังสือไม่ได้ บ้างหรือไม่ ลองสังเกตพวกเข้าให้ดี เพราะบางทีที่นักเรียนประสบปัญหาในด้านการอ่านเช่นนั้น อาจเป็นผลมาจากโรคที่มีชื่อว่า Dyslexia ก็เป็นได้
Dyslexia เป็นภาวะความบกพร่องทางการอ่านที่ส่งผลทำให้ผู้ที่เป็นไม่สามารถอ่านเขียนสะกดคำได้ เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับการแยกเสียงตัวอักษรและการเชื่อมโยงเสียงตัวอักษรเข้ากับรูปคำต่าง ๆ โดยที่ผู้ที่ประสบปัญหานี้มีจะระดับสติปัญญาและการมองเห็นเป็นปกติ สามารถเรียนหนังสือได้เหมือนคนทั่วไป เพียงแต่มีปัญหาในการอ่านทำให้ต้องใช้ระยะเวลาอย่างมากในการอ่านหนังสือ
Dyslexia เป็นศัพท์การแพทย์ที่มาจากการรวมคำสองคำคือ dys ซึ่งหมายถึง ความยากลำบาก และ lexia ที่หมายถึง การอ่าน ถือเป็นหนึ่งในสามของภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ (Learning disorder (LD)) ซึ่งมีความบกพร่องหลักสามส่วนคือ ความบกพร่องด้านการอ่าน (Dyslexia) ความบกพร่องด้านการเขียน (Dysgraphia) และความบกพร่องในด้านการคำนวนทางคณิตศาสตร์ (Dyscalcuria)
ทักษะในด้านการอ่านโดยทั่วไปนั้น ประกอบด้วยทักษะสำคัญ 3 ส่วนคือ การอ่านคำอย่างถูกต้อง (accuracy) ความคล่องในการอ่าน (fluency) และความเข้าใจในสิ่งที่อ่าน (comprehension) ซึ่งผู้ที่ป่วยเป็นโรค Dyslexia นั้น จะมีการสูญเสียทักษะใดทักษะหนึ่งไป หรืออาจจะสูญเสียทุกทักษะก็ได้ และอาจมีผลทำให้เกิดความบกพร่องในการเรียนรู้ในด้านอื่นๆได้ด้วยสำหรับอาการของ ผู้ที่ป่วยเป็นภาวะ Dyslexia นั้น จะสังเกตได้ยากถ้ายังไม่ถึงวัยเรียน แต่ถ้าในเด็กก่อนวัยเรียนมีปัญหาเหล่านี้คือ พูดช้ากว่าปกติ ไม่เข้าใจการเล่นเสียงหรือคำสัมผัส ออกเสียงไม่เป็นคำ จดจำตัวเลขและตัวอักษรไม่ได้ อาจมีแนวโน้มที่เด็กกลุ่มนี้จะมีภาวะความบกพร่องในด้านการอ่าน ซึ่งความผิดปกติต่าง ๆ จะเริ่มเด่นชัดขึ้นเมื่อเข้าสู่ชั้นประถมศึกษา ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มมีการสอนการอ่านอย่างเป็นระบบ โดยนักเรียนที่มีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคนี้ มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับการเรียนรู้และจดจำชื่อหรือเสียงของตัวอักษร มีปัญหาในการแยกแยะความแตกต่างของรูปคำและเสียงตัวอักษร มีพัฒนาการด้านการสะกดคำและอ่านหนังสือที่ช้ากว่าปกติ อ่านออกเสียงคำที่ไม่คุ้นเคยไม่ได้ และไม่สามารถเลือกใช้คำพูดในการสื่อสารได้อย่างเหมาะสม
ความบกพร่องนี้ จะส่งผลทำให้ ผู้ป่วย อ่านหนังสือได้ช้า สรุป จับใจความในเรื่องต่าง ๆ ไม่ค่อยได้ สะกดคำไม่ถูก หรือสะกดคำผิด ทำให้ออกเสียงผิด ๆ และอาจมีผลต่อการเรียนภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ด้วย โดยสาเหตุของความบกพร่องในการอ่านนี้อาจเกิดได้จาก
- พันธุกรรม ซึ่งถ้าบุคคลในครอบครัวมีภาวะ Dyslexia ก็มีแนวโน้มที่นักเรียนจะมีภาวะ Dyslexia ตามไปด้วย
- ภาวะคลอดก่อนกำหนด ซึ่งส่งผลทำให้เด็กมีพัฒนาการไม่เต็มที่
- ได้รับยา สารเคมี และสิ่งเสพติดขณะอยู่ในคลอด รวมถึงภาวะติดเชื้อของมารดา ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของทารก
- การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม เช่น การไม่พูดคุยกับลูก ไม่อ่านนิทานให้ลูกฟัง หรือให้เด็กอยู่กับเทคโนโลยีตลอดเวลา ทำให้เด็กอาจมีพัฒนาการทางภาษาที่ผิดปกติได้
ซึ่งการตรวจสอบวินิจฉัยผู้ที่มีภาวะ Dyslexia นั้น จะต้องให้แพทย์เป็นตรวจวินิจฉัย โดยพิจารณาจากหลาย ๆ ปัจจัย อันประกอบด้วย พัฒนาการและประวัติการรักษาทั่วไป ซึ่งแพทย์จะดูจากบันทึกสุขภาพของนักเรียนเป็นหลักและรวมถึงประวัติการรักษาต่าง ๆ สภาพแวดล้อมทางบ้านของนักเรียน รวมถึงประวัติของบุคคลในครอบครัว แบบสอบถามสำหรับนักเรียนซึ่งให้ผู้ปกครองหรือครูผู้สอนเป็นผู้ประเมิน การตรวจสมรรถภาพร่างกาย การทดสอบทางจิตวิทยา และการทดสอบทักษะการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งเมื่อพบว่านักเรียนในความดูแลนั้นมีปัญหาภาวะ Dyslexia ในฐานะครูผู้สอน ควรรับมือ โดยเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจโรค จากการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ตหรือสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจภาวะของโรค ซึ่งโรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรง และสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ให้กำลังใจกับนักเรียนที่เผชิญกับภาวะดังกล่าว และอธิบายให้เขารู้ว่าอาการป่วยของเขานั้นไม่ใช่ความล้มเหลวในการใช้ชีวิต เขามีโอกาสพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นได้ เพื่อให้เขามีความมั่นใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง จัดโปรแกรมการฝึกฝนทักษะเฉพาะให้กับนักเรียนที่ประสบปัญหาให้เหมาะสมเพื่อเยียวยาและพัฒนานักเรียนอย่างเหมาะสม ปรึกษาหารือและร่วมมือกับผู้ปกครอง เพื่อขอความร่วมมือในการจำกัดการใช้สื่อเทคโนโลยีของนักเรียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบกับความสนใจในการอ่านอย่างมาก และกำหนดตารางในการให้ผู้ปกครองช่วยส่งเสริมการอ่านให้กับนักเรียนอย่างชัดเจนในแต่ละวัน ให้ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคนี้ กับเพื่อนนักเรียนและครูผู้สอนท่านอื่น ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจนักเรียนที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าว และสามารถอยู่ร่วมกันและหาวิธีส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้อย่างเหมาะสม จัดทำแผนการช่วยเหลือนักเรียนไว้เป็นแบบอย่าง สำหรับการช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหาในลักษณะนี้ต่อไป
ภาวะ Dyslexia เป็นความผิดปกติซึ่งปัญหาสุขภาพเรื้อรังที่ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด การที่นักเรียนประสบความสำเร็จในด้านการเรียนน้อยกว่าเพื่อนในวัยเดียวกันนั้น อาจทำให้นักเรียนกลุ่มนี้รู้สึกไม่อยากเรียนและขาดความมั่นใจในตนเองตามมา และอาจนำไปสู่ปัญหาทางด้านจิตใจและพฤติกรรมที่แย่ลงในที่สุด อย่างไรก็ตาม ภาวะ Dyslexia สามารถทำให้ดีขึ้นและใช้ชีวิตอยู่กับภาวะดังกล่าวได้ หากได้รับการตรวจพบและได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้อาการของโรคนี้ดีขึ้น
ดังนั้น เมื่อพบนักเรียนที่มีแนวโน้มจะเป็นภาวะดังกล่าว ควรปรึกษากับผู้ปกครองอย่างจริงจังในพานักเรียนไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและหาทางแก้ไข เพื่อให้พวกเขาสามารถกลับมาเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมและเต็มศักยภาพ
แหล่งข้อมูล
ความหมาย ความบกพร่องในการเรียนรู้ (Dyslexia). สืบค้นเมื่อ 21 เมษายน 2563
ลูกอ่านไม่ค่อยออก เขียนไม่ค่อยได้ หรือจะเป็น...Dyslexia!?. สืบค้นเมื่อ 21 เมษายน 2563